ความหมายของ "ของที่ระลึก"
ของที่ระลึก (Souvenir) หมายถึง สิ่งต่างๆที่เก็บรักษาไว้หรือใช้เป็นเครื่องเตือนความจำเกี่ยวกับเรื่องราวหรือเหตุการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ
ของที่ระลึก หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นตัวจูงใจ ให้เกิดการคิดถึงหรือนึกถึงเรื่องราวที่ได้เกี่ยวข้อง
ของที่ระลึก หมายถึง สิ่งที่ใช้เป็นสื่อเพื่อหวังผลทางด้านความทรงจำ ให้สิ่งที่ผ่านมาในอดีตกลับกระจ่างขึ้นในปัจจุบัน
ของที่ระลึก หมายถึง สัญลักษณ์แทนบุคคล เรื่องราว ฯลฯ ที่ได้รับการออกแบบสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อกระตุ้นหรือเน้นย้ำความทรงจำให้คิดถึงหรือนึกถึงอยู่เสนอในบุคคล เหตุการณ์หรือเรื่องราว ฯลฯ นั้น
ของที่ระลึก หมายถึง สิ่งของที่ทำให้คิดถึงสถานที่ที่เคยไปสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์และประเพณีบางอย่าง
ของที่ระลึกนี้มีชื่อเรียกแตกต่างออกไปอีกตามโอกาสอีก เช่น "ของชำร่วย" หมายถึง ของตอบแทนผู้มาช่วยงาน เช่น งานแต่งงาน งานศพ "ของกำนัล" หมายถึง สิ่งของที่นำไปให้แก่ผู้ที่รักและนับถือ และ "ของขวัญ" หมายถึง สิ่งของที่ให้กันเพื่ออัธยาศัยไมตรี
ประเภทของ "ของที่ระลึก"
ของที่ระลึกซึ่งทำออกมาในรูแบบต่างๆ เช่น ของบริโภค ของใช้ เครื่องประดับ ฯลฯ มีความเกี่ยวข้องกับวัสดุ เทคนิควิธีทำ จุดมุ่งหมายในการผลิตและการนำไปใช้ ตลอดจนอิทธิพลอื่นๆ เช่น ความเชื่อ ศาสนา การเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม ทำให้ของที่ระลึกมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป การจัดประเภทของที่ระลึกสามารถจัดได้โดยยึดหลักต่อไปนี้
1. การจัดประเภทตามรูปแบบของที่ระลึก
การจัดประเภทของที่ระลึกสามารถจัดตามรูปแบบที่ปรากฏได้ดังนี้
1) ของที่ระลึกที่ผลิตขึ้นตามแบบประเพณีนิยม คือ ของที่ระลึกที่ผลิตขึ้นโดยสืบทอดรูปแบบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ โดยในอดีตนั้นสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก เมื่อสภาวะความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลง จุดมุ่งหมายของการใช้สิ่งนั้น จึงอาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวได้ เช่น ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านต่างๆ เป็นต้น
2) ของที่ระลึกที่ผลิตขึ้นตามแบบสมัยนิยม เป็นของที่ระลึกที่ผลิตขึ้นตามความนิยมในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งในชั่วระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นก็เสื่อมความนิยมไปพร้อมกับรูปแบบใหม่เข้ามาแทนที่
2. การจัดประเภทตามวัสดุที่ใช้ผลิต
การจัดแบ่งของที่ระลึกตามวัสดุที่ใช้ผลิตสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ซึ่งอาจจะผลิตโดยใช้วัสดุประเภทใดประเภทหนึ่งหรือใช้ผสมกัน รายละเอียดมีดังนี้
1) ของที่ระลึกที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เป็นของที่ระลึกที่นำเอาวัสดุธรรมชาติมาเสริม เติม แต่ง ประกอบต่อ ดัดแปลง เป็นเครื่องใช้ไม้สอย เครื่องประดับหรือวัตถุทางศิลปะซึ่งบางอย่างยังคงรูปแบบตารมต้นแบบของธรรมชาติเดิมหรือต่อเติมบ้าง เช่น ของที่ระลึกที่ผลิตจากเปลือกหอย ดอกไม้แห้ง น้ำเต้าและกะลามะพร้าว เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำเอาวัสดุธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นของที่ระลึกรูปแบบใหม่ขึ้น
2) ของที่ระลึกที่ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ เป็นการนำเอาวัสดุสังเคราะห์มาใช้ในการผลิตของที่ระลึก ซึ่งคุณสมบัติทางกายภาพของวัสดุแต่ละชนิดนั้นมีความแตกต่างกัน เช่น แก้วมีความใสเป็นประกายทองมีความสุกปลั่ง พลาสติกมีสีสันสวยสด เป็นต้น จากคุณสมบัติของวัสดุและกรรมวิธีในการผลิตที่แตกต่างกันจึงทำให้เกิดของที่ระลึกรูปแบบต่างๆ มากมาย เช่น เครื่องแก้ว เครื่องทอง ผลิตภัณฑ์โลหะและผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
3) ของที่ระลึกที่ผลิตจากเศษวัสดุ เป็นการนำวัสดธรรมชาติหรือวัสดุสังเคราะห์ที่เหลือใช้แล้วมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของต่างๆ ซึ่งส่วนมากมักจะใช้เป็นของที่ระลึกเพื่อประโยชน์ในทางประดับตกแต่ง
3. การจัดประเภทตามประโยชน์ใช้สอย
การจัดแบ่งของที่ระลึกตามประโยชน์ใช้สอยนี้จัดแบ่งตามจุดประสงค์ของการนำไปใช้ว่าใช้ในลักษณะใด แบ่งได้ 3 ประเภท คือ
1) ของที่ระลึกประเภทของบริโภค หมายถึง ของที่ระลึกประเภทอาหาร แต่เดิมนั้นคงเป็นเพียงการแบ่งปันอาหารกันในลักษณะที่คงเป็นธรรมชาติอยู่เช่น ผลไม้ เนื้อสัตว์ เป็นต้น ปัจจุบันมีการปรุงแต่งอาหารทั้งในด้านรูปแบบและรสชาติ รวมถึงการจัดใส่ภาชนะและหีบห่อที่สวยงามเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ฉะนั้นอาหารไม่เป็นเพียงใช้บริโภคโดยตรง หากยังใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายหรือมอบให้แก่กันในโอกาสต่างๆอีกด้วย เช่น ขนมลูกชุบ ขนมเทียนเสวย ขิงดอง กระเทียมดอง เป็นต้น ด้วยเหตุที่อาหารเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน อาหารจึงมักไม่ค่อยได้รับการยอมรับว่าเป็นของที่ระลึกเหมือนกับวัตถุอย่างอื่น
2) ของที่ระลึกประเภทของอุปโภค ได้แก่ ของที่ระลึกประเภทเครื่องใช้ต่างๆ เป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางด้านร่างกายเป็นส่วนใหญ่ ของที่ระลึกประเภทนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านต่างๆ โคมไฟ เชิงเทียน ตะเกียง เป็นต้น
3) ของที่ระลึกประเภทของตกแต่ง เป็นของที่ระลึกที่ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางด้านจิตใจ ได้แก่ เครื่องประดับร่างกายและอาคารสถานที่ต่างๆ เป็นต้น
4. การจัดประเภทตามจุดประสงค์ของผลิต
ของที่ระลึกอาจแบ่งได้ตามจุดประสงค์เฉพาะในการผลิต เช่น ผลิตขึ้นเพื่อระลึกถึงบุคคล งาน เหตุการณ์และสถานที่ต่างๆ ดังนี้
1) ของที่ระลึกที่ผลิตขึ้นเฉพาะบุคคล ได้แก่ ของที่ระลึกที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกให้กับบุคคลอื่น เพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงบุคคลนั้น รูปแบบของที่ระลึกประเภทนี้ ได้แก่ รูป โล่ เหรียญ ถ้วย ธง ฯลฯ
2) ของที่ระลึกผลิตขึ้นเฉพาะงาน เป็นการผลิตขึ้นเพื่อแจก แลก ซื้อขายเฉพาะงานใดงานหนึ่ง เช่น งานแสดงสินค้า งานแต่งงาน งานศพ งานฉลองมงคลสมรส งานศิษย์เก่า ฯลฯ
3) ของที่ระลึกที่ผลิตขึ้นเฉพาะเหตุการณ์ หมายถึง ของที่ระลึกที่ผลิตขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ อาจเป็นเหตุการณ์ที่ดี ที่ร้ายแรง หรือเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ของที่ระลึกประเภทนี้อาจผลิตในรูปของวัตถุ รูปจำลอง สัญลักษณ์แทน ฯลฯ
4) ของที่ระลึกที่ผลิตขึ้นเฉพาะที่ หมายถึงของที่ระลึกที่ผลิตขึ้นเพื่อระลึกถึงสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง อาจแสดงให้เห็นรูปแบบเฉพาะของท้องถิ่นโดยใช้วัสดุและเทคนิควิธีที่สืบทอดกันมาในท้องถิ่นนั้นหรือนำเอารูปแบบของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รูปแบบของบุคคลหนึ่งหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่มีเฉพาะในท้องถิ่นนั้น เมื่อนำเอารูปแบบนั้นมาผลิตเป็นของที่ระลึกก็จะช่วยให้ระลึกถึงสถานที่แห่งนั้นได้
วัสดุและรูปแบบของที่ระลึกในท้องถิ่น
วัสดุที่ใช้ในการผลิตของที่ระลึกในท้องถิ่นจากการสำรวจในจังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ พบว่ามีหลายประเภท ที่สำคัญมีดังนี้
1. ไม้ เป็นวัสดุที่ใช้ในการผลิตสินค้าของที่ระลึกที่นิยมแพร่หลาย ไม้ที่นำมาแกะสลักกันได้แก่ ไม้สัก ไม้ชิงชัน ไม้โมกมัน ไม้ฉำฉา ฯลฯ ปัจจุบันใช้ไม้ฉำฉาเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อน ง่ายต่อการแกะสลัก และราคาถูกกว่าแต่ลายไม้ไม่สวยเหมือนไม้ชนิดอื่น งานแกะสลักมีรูปลักษณะต่างๆ มากมาย เช่น เครื่องเรือน ภาพแกะสลัก กรอบรูป ภาชนะ รูปสัตว์ รูปคน รูปดอกไม้ ฯลฯ ส่วนไม้ชนิดอื่นนอกเหนือจากไม้ที่ใช้แกะสลักแล้วที่นิยมนำมาประดิษฐ์เป็นของที่ระลึกเช่นกัน ได้แก่ ไม้ไผ่ ซึ่งอาจนำมาใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การประกอบแขนงไม้ไผ่เป็นอาคาร
เล็กๆ โมบาย การทำเครื่องเขิน ฯลฯ แต่ที่ทำกันแพร่หลายมากคือ เครื่องจักสาน ได้แก่ เป็นรูปเครื่องใช้ในบ้าน เช่น พัด กระบุง กระจาด กระติบ เข่ง ฯลฯ เครื่องมือต่างๆ เช่น ลอบ ไซ ข้อง ส่วนที่เป็นของเบ็ดเตล็ดทั่วไป ได้แก่ กระเป๋าถือ หมวก ของเล่น ของประดับ เป็นต้น ส่วนไม้ชนิดอื่นที่นำมาใช้ในการจักสารได้แก่ แหย่ง หวาย เป็นต้น
เล็กๆ โมบาย การทำเครื่องเขิน ฯลฯ แต่ที่ทำกันแพร่หลายมากคือ เครื่องจักสาน ได้แก่ เป็นรูปเครื่องใช้ในบ้าน เช่น พัด กระบุง กระจาด กระติบ เข่ง ฯลฯ เครื่องมือต่างๆ เช่น ลอบ ไซ ข้อง ส่วนที่เป็นของเบ็ดเตล็ดทั่วไป ได้แก่ กระเป๋าถือ หมวก ของเล่น ของประดับ เป็นต้น ส่วนไม้ชนิดอื่นที่นำมาใช้ในการจักสารได้แก่ แหย่ง หวาย เป็นต้น
2. ผักตบชวา เป็นพืชน้ำขึ้นอยู่ตามแม่น้ำลำคลองและห้วยหนองคลองบึงทั่วไป เป็นพืชที่มีความเจริญเติบโตและขยายพันธ์ได้รวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืช ทำให้เกิดน้ำเสียและการไหลเวียนของน้ำไม่สะดวก แต่ด้วยคุณสมบัติของผักตบชวาที่มีความเหนียวและทนทาน จึงมีผู้คิดนำเอามาทำประโยชน์โดยนำมาตากแห้งแล้วนำเข้าเครื่องรีดและนำไปถักหรือสานเป็นหมวก กระเป๋า ตะกร้า กระจาด แผ่นรองแก้ว เป็นต้น
3. ผ้าและเส้นใย เป็นวัสดุที่นิยมผลิตเป็นของที่ระลึกที่แพร่หลายอีกประเภทหนึ่ง เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ในรูปของเครื่องนุ่งห่ม ของใช้ ของประดับต่างๆ มีการตกแต่งสีและลวดลายบนพื้นผ้าแบบต่างๆ เช่น การทอลวดลาย การย้อมบาติก การย้อมม่อฮ่อม การปักลาย การพิมพ์ ซิลค์สกรีน ฯลฯ
4. ดิน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากดิน ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผามีทั้งเครื่องปั้นดินเผาแบบ Earthen Ware เป็นเครื่องดินเผาที่เผาในอุณหภูมิต่ำ ลักษณะเครื่องปั้นดินเผามีเนื้อหยาบ มีสีเทาอ่อน น้ำตาลอ่อน เหลืองอ่อน เคาะมีเสียงทึบไม่กังวาน เช่น ภาชนะ ของประดับ ของใช้ต่างๆ ที่เผาโดยวิธีการเผาแบบกลางแจ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องปั้นดินเผาประเภท Ston Ware ซึ่งเผาในอุณหภูมิสูง (1190 ํซ – 1390 ํซ) มีเนื้อแน่นหยาบและแข็งแกร่งมาก ส่วนอีกประเภทหนึ่งที่ทำกันแพร่หลายทั้งในรูปแบบของภาชนะและของประดับต่างๆ คือ เครื่องปั้นดินเผาประเภท Porcelain Ware เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ดินสีขาวและส่วนผสมอื่นๆ เผาในอุณหภูมิ 1250 ซ ขึ้นไปจะได้เครื่องปั้นดินเผาที่มีเนื้อละเอียด ลักษณะคล้ายแก้วมีความแข็งแกร่งมาก น้ำและของเหลวไม่สามารถซึมได้
5. ต้นปอสา ใช้ทำกระดาษโดยใช้เยื่อเปลือกของต้นสามารถทำตามกระบวนการการทำกระดาษ นิยมเอาไปทำร่ม ของใช้และของประดับอื่นๆ เช่น กระเช้า ถาด ตุ๊กตา กระดาษ ห่อของขวัญ ดอกไม้ประดิษฐ์ ภาพเขียน ฯลฯ ปัจจุบันของที่ระลึกจากกระดาษสาเป็นที่แพร่หลายพอสมควรเพราะสามารถนำมาประดิษฐ์ได้หลายรูปแบบ รวมทั้งสามารถระบาย ย้อมและพิมพ์สีลวดลายบนเนื้อกระดาษได้
ฯลฯ
วัสดุเหล่านี้เป็นวัสดุธรรมชาติที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นสามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานได้หลายรูปแบบ ตามแต่ผู้ออกแบบจะคิดประดิษฐ์กันขึ้นมา ในการศึกษาใยวิชาออกแบบของที่ระลึก เน้นถึงการใช้เศษวัสดุมาใช้ประโยชน์ จากวัสดุและรูปแบบของที่ระลึกในท้องถิ่นที่กล่าวมาแล้วนั้น เราสามารถนำเอาวัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น เศษไม้ที่เหลือจากการแกะสลัก เส้นใยจากการทอผ้า เศษดิน เศษกระดาษสา เป็นต้น ซึ่งแนวทางในการออกแบบของที่ระลึกจากเศษวัสดุเหล่านี้จะได้กล่าวในหน่วยที่ 3 ต่อไป
สรุป
ความหมายของ "ของที่ระลึก"
สรุปได้ดังนี้คือ ของที่ระลึก หมายถึง สิ่งของที่เก็บรักษาไว้หรือใช้เป็นเครื่องเตือนความจำเกี่ยวกับเรื่องราวหรือเหตุการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ และยังสามารถเรียกแตกต่างออกไปอีกตามโอกาส เช่น "ของชำร่วย" หมายถึง ของตอบแทนผู้มาช่วยงาน เช่น งานแต่งงาน งานศพ "ของกำนัล" หมายถึง สิ่งของที่นำไปให้แก่ผู้ที่รักและนับถือ และ "ของขวัญ" หมายถึง สิ่งของที่ให้กันเพื่ออัธยาศัยไมตรีอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น