ข้อมูลน่ารู้ & วิธีการแกะสลัก{ผักและผลไม้}

ข้อมูลน่ารู้ & วิธีการแกะสลัก{ผักและผลไม้}


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
ประวัติความเป็นมา
งานศิลปะดั้งเดิมของไทยนั้นมีอยู่มากมายหลายอย่างหลายแขนง การแกะสลักก็เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ถือเป็นมรดกมีค่าที่สืบทอดกันมาช้านาน เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความถนัด สมาธิ ความสามารถเฉพาะตัว และความละเอียดอ่อนมาก การแกะสลักผักและผลไม้ เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ประจำของชาติไทยเลยทีเดียว ซึ่งไม่มีชาติใดสามารถเทียบเทียมได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดในปัจจุบันนี้คงจะเป็นเรื่องของการอนุรักษ์ ศิลปะแขนงนี้ที่มีแนวโน้มจะสูญหายไปและลดน้อยลงไปเรื่อยๆ
การแกะสลักผักและผลไม้เดิมเป็นวิชาที่เรียนขั้นสูงของ กุลสตรีในรั้วในวัง ที่ต้องมีการฝึกฝนและเรียนรู้จนเกิดความชำนาญ บรรพบุรุษของไทยเราได้มีการแกะสลักกัน มานานแล้ว แต่จะเริ่มกันมาตั้งแต่สมัยใดนั้น ไม่มีใครรู้แน่ชัด เนื่องจากไม่มีหลักฐานแน่ชัด จนถึงในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ในสมัยของสมเด็จพระร่วงเจ้า ได้มีนางสนมคนหนึ่งชื่อ นางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ขึ้น และในหนังสือเล่มนี้ ได้พูดถึงพิธีต่าง ๆ ไว้ และพิธีหนึ่ง เรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือนสิบสอง เป็นพิธีโคมลอย นางนพมาศได้คิดตกแต่งโคมลอยที่งดงามประหลาดกว่าโคมของพระสนมคนอื่นทั้งปวง และได้เลือกดอกไม้สีต่าง ๆ ประดับให้เป็นลวดลายแล้วจึงนำเอาผลไม้ มาแกะสลักเป็นนกและหงส์ให้เกาะเกสรดอกไม้อยู่ตามกลีบดอก เป็นระเบียบสวยงามไปด้วยสีสันสดสวย ชวนน่ามองยิ่งนัก รวมทั้งเสียบธูปเทียน จึงได้มีหลักฐานการแกะสลักมาตั้งแต่สมัยนั้น
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดการประพันธ์ยิ่งนัก พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์กาพย์แห่ชมเครื่องคาวหวาน และแห่ชมผลไม้ได้พรรณนา ชมฝีมือการทำอาหาร การปอกคว้านผลไม้ และประดิดประดอยขนมสวยงาม และอร่อยทั้งหลาย ว่าเป็นฝีมืองามเลิศของสตรีชาววังสมัยนั้น และทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง สังข์ทอง พระองค์ทรงบรรยายตอนนางจันทร์เทวี แกะสลักชิ้นฟักเป็นเรื่องราวของนางกับพระสังข์ นอกจากนั้นยังมีปรากฏในวรรณกรรมไทยแทบ ทุกเรื่อง เมื่อเอ่ยถึงตัวนางซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องว่า มีคุณสมบัติของกุลสตรี เพรียกพร้อมด้วยฝีมือการปรุงแต่งประกอบอาหารประดิดประดอยให้สวยงามทั้งมี ฝีมือในการประดิษฐ์งานช่างทั้งปวง ทำให้ทราบว่า กุลสตรีสมัยนั้นได้รับการฝึกฝนให้พิถีพิถันกับการจัดตกแต่งผัก ผลไม้ และการปรุงแต่งอาหารเป็นพิเศษ จากข้อความนี้น่าจะเป็นที่ยืนยันได้ว่า การแกะสลักผัก ผลไม้ เป็นศิลปะของไทยที่กุลสตรีในสมัยก่อนมีการฝึกหัด เรียนรู้ผู้ใดฝึกหัดจนเกิดความชำนาญ ก็จะได้รับการยกย่อง
งานแกะสลักใช้กับของอ่อน สลักออกมาเป็นลวดลายต่างๆอย่างงดงาม มีสลักผัก สลักผลไม้ สลักหยวกกล้วยถือเป็นงานช่างฝีมือของคนไทยที่มีมาแต่โบราณ งานสลักจึงอยู่ในงานช่าง 10 หมู่ เรียกว่า ช่างสลัก ในช่างสลักแบ่งออกย่อย คือ ช่างฉลุ ช่างกระดาษ ช่างหยวก ช่างเครื่องสด ส่วนช่างอีก 9 หมู่ที่เหลือได้แก่ ช่างแกะ ที่มีทั้งช่างแกะตรา ช่างแกะลาย ช่างแกะพระหรือภาพช่างหุ่น มีช่างไม้ ช่างไม้สูง ช่างปากไม้ ช่างปั้น มีช่างขี้ผึ้ง ช่างปูน เป็นช่างขึ้นรูปปูน มีช่างปั้น ช่างปูนก่อ ช่างปูนลอย ช่างปั้นปูน ช่างรัก มีช่างลงรัก มีปิดทอง ช่างประดับกระจก ช่างมุก ช่างบุ บุบาตรพระเพียงอย่างเดียว ช่างกลึง มีช่างไม้ ช่างหล่อ มีช่างหุ่นดิน ช่างขี้ผึ้ง ช่างผสมโลหะ ช่างเขียน มีช่างเขียน ช่างปิดทอง
การสลักหรือจำหลัก จัดเป็นศิลปกรรมแขนงหนึ่งในจำพวกประติมากรรม เป็นการประดิษฐ์วัตถุเนื้ออ่อนอย่างผัก ผลไม้ ที่ยังไม่เป็นรูปร่าง หรือมีรูปร่างอยู่แล้วสร้างสรรค์ให้สวยงามและพิสดารขึ้น โดยใช้เครื่องมือที่มีความแหลมคม โดยใช้วิธีตัด เกลา ปาด แกะ คว้าน ทำให้เกิดลวดลายตามต้องการ ซึ่งงานสลักนี้เป็นการฝึกทักษะสัมพันธ์ของมือและสมอง เป็นการฝึกจิตให้นิ่ง แน่วแน่ต่องานข้างหน้า อันเป็นการฝึกสมาธิได้อย่างดีเลิศ
การสลักผักผลไม้นอกจากจะเป็นการฝึกสมาธิแล้วยังเป็นการฝึกฝีมือให้เกิดความชำนาญเป็นพิเศษ และต้องมีความมานะ อดทน ใจเย็น และมีสมาธิเป็นที่ตั้ง รู้จักการตกแต่ง มีความคิดสร้างสรรค์ การทำงานจ้องให้จิตใจทำไปพร้อมกับงานที่กำลังสลักอยู่ จึงได้งานสลักที่สวยงามเพริศแพร้วอย่างเป็นธรรมชาติ ดัดแปลงเป็นลวดลายประดิษฐ์ต่างๆ ตามใจปรารถนา
ปัจจุบันวิชาการช่างฝีมือเหล่านี้ ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตร ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษามาจนถึงอุดมศึกษาเป็นลำดับ ประกอบกับรัฐบาลและภาคเอกชนได้ให้การสนับสนุน จึงมีการอนุรักษ์ศิลปะต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการแกะสลักผลงานประเภทเครื่องจิ้ม จนกระทั่งงานแกะสลักได้กลายเป็นสิ่งที่ต้องประดิษฐ์ ตกแต่งบนโต๊ะอาหารในการจัดเลี้ยงแขกต่างประเทศ ตามโรงแรมใหญ่ ๆ ภัตตาคาร ตลอดจนร้านอาหาร ก็จะใช้งานศิลปะการแกะสลักเข้าไปผสมผสานเพื่อให้เกิดความสวยงาม หรูหรา และประทับใจแก่แขกในงาน หรือสถานที่นั้น ๆ งานแกะสลักผลไม้ จึงมีส่วนช่วยตกแต่งอาหารได้มาก คงเป็นเช่นนี้ตลอดไป
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ รูปแกะสลักผลไม้

หลักการแกะสลักผักและผลไม้

      การแกะสลักผักและผลไม้ถือเป็นงานแกะสลักวัสดุเนื้ออ่อน จำแนกลักษณะของงานตามวิธีการแกะสลัก ได้ดังนี้ คือ
1. รูปร่องลึก เป็นการเซาะเนื้อวัสดุให้เป็นร่องลึกตามลวดลายหรือลักษณะงานที่ออกแบบไว้
2. รูปนูน เป็นการแกะสลักเนื้อวัสดุนูนขึ้นจากพื้น คือ การแกะสลักพื้นให้ต่ำลง ให้ตัวลายนูนสูงขึ้นมา
 3. รูปลอยตัว เป็นการแกะสลักที่มองเห็นได้โดยรอบทุกด้าน
เครื่องมือที่ใช้ในการแกะสลัก
     1.      มีดบาง ใช้สำหรับปอก หั่น ตัด ปาด เกลาให้ได้รูปทรงที่ต้องการ
     2.     มีดปลายแหลม , มีดปลายโค้ง ใช้สำหรับคว้านแกะสลัก เซาะให้เป็นร่องและใช้ในการตัดเส้นลวดลายต่างๆ   เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมาก จะต้องมีความคมเสมอ ในการแกะสลักมีวิธีจับอยู่ 2 แบบ คือ
      แบบที่ 1 จับมีดแบบหั่นผัก   มือขวาจับด้ามมีดอย่าให้แน่นเกินไป นิ้วชี้กดสันมีด มือซ้ายจับผักหรือผลไม้
       แบบที่ 2 จับมีดแบบจับดินสอ มือขวาจับด้ามมีด นิ้วชี้กดสันมีด เหลือปลายมีดประมาณ 2-3 เซนติเมตร มือซ้ายจับผักหรือผลไม้
     3.     มีดฟันเลื่อย   มีคมมีดหยักเหมือนฟันเลื่อย ใช้ปาดเนื้อผลไม้ที่เป็นทรงกลม เช่น แตงโม
     4.     มีดปอก   เป็นมีดที่มีคมทั้งสองด้านหันเข้าหากัน ใช้สำหรับปอกเปลือกผักและผลไม้
     5.     ที่ตักทรงกลม   มีด้ามจับตรงกลาง ปลายสองข้างเป็นครึ่งวงกลมเป็นที่ตักผักผลไม้
อุปกรณ์ที่ใช้ในการแกะสลัก
  1. เขียงไม้/เขียงพลาสติก สำหรับรองรับเมื่อต้องการหั่นผักและผลไม้
  2. ภาชนะใส่น้ำสำหรับแช่ผักที่แกะสลักเสร็จแล้ว
  3. ถาดรองรับเศษผักและผลไม้ขณะแกะสลัก
  4. ผ้าขาวบาง สำหรับคลุมผักและผลไม้ที่แกะสลักเสร็จแล้ว
  5. ผ้าเช็ดมือ
  6. ที่ฉีดน้ำ
  7. จาน ถาด สำหรับจัดผักและผลไม้ที่แกะสลักเสร็จแล้ว
  8. กล่องพลาสติกหรือถุงพลาสติกสำหรับใส่ผักและผลไม้ที่แกะเสร็จแล้วนำไปแช่ในตู้เย็น
การเก็บรักษาเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่ใช้ในการแกะสลัก
หลังใช้งานแล้วต้องทำความสะอาดทุกครั้ง วัสดุที่นำมาแกะสลักบางชนิดมียาง ต้องล้างยางที่คมมีดด้วยมะนาวหรือน้ำมันก่อน แล้วจึงล้างน้ำให้สะอาด เช็ดให้แห้ง เก็บปลายมีดในฝักหรือปลอก
หมั่นดูแลมีดแกะสลักให้มีความคมสม่ำเสมอ เวลาใช้งานผักและผลไม้จะได้ไม่ช้ำ โดยหลังการใช้ต้องลับคมทุกครั้ง เช็ดให้แห้งเก็บใส่กล่องโดยเฉพาะ และเก็บไว้ให้พ้นมือเด็ก
ผักและผลไม้ที่สามารถนำมาแกะสลักได้
  • แตงกวา   เลือกผิวสดสีเขียวปนขาวไม่เหลือง สามารถนำมาแกะสลักได้หลายรูปแบบ  เช่น กระเช้าใส่ดอกไม้   ดอกไม้ ใบไม้  เมื่อแกะเสร็จให้ล้างด้วยน้ำเย็นใส่กล่องแช่เย็นไว้ หรือใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำคลุมไว้จะได้สดและกรอบ
  • มะเขือเทศ เลือกผลที่มีผิวสด ขั้วสีเขียว  นำมาแกะสลักเป็นดอกไม้ หรือฝานผิวนำมามวนเป็นดอกกุหลาบ เมื่อแกะเสร็จควรล้างด้วยน้ำเย็น ใส่กล่องแช่เย็น
  • มะเขือ เลือกผลที่มีผิวเรียบ ไม่มีรอยหนอนเจาะ ขั้วสีเขียวสด   นำมาแกะเป็นใบไม้ ดอกไม้ เมื่อแกะเสร็จควรแช่ในน้ำมะนาวหรือน้ำมะขาม จะทำให้ไม่ดำ
  • แครอท เลือกสีส้มสด หัวตรง นำมาแกะเป็นดอกไม้  ใบไม้ สัตว์ต่าง ๆ เมื่อแกะเสร็จให้แช่ไว้ในน้ำเย็น
  • ขิง เลือกเหง้าที่มีลักษณะตามรูปร่างที่ต้องการ   แกะเป็นช่อดอกไม้  ใบไม้ สัตว์ เมื่อนำขิงอ่อนไปแช่ในน้ำมะนาวจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูสวย
  • มันเทศ เลือกหัวที่มีผิวสด ไม่มีแมลงเจาะ แกะเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ  แกะเสร็จแล้วนำไปแช่ในน้ำมะนาวหรือน้ำมะขาม ผิวจะได้ไม่ดำ
  • เผือก เลือกหัวใหญ่กาบสีเขียวสด นำมาแกะเป็นภาชนะใส่ของ หรืออาหาร ดอกไม้ ใบไม้ หรือสัตว์ เมื่อแกะเสร็จให้นำไปแช่ในน้ำมะนาวหรือน้ำมะขามจะทำให้มีสีขาวขึ้น
  • ฟักทอง เลือกผลแก่เนื้อสีเหลืองนวล นำมาแกะเป็นภาชนะใส่ของหรืออาหาร  ดอกไม้  ใบไม้ หรือสัตว์ต่าง ๆ  แกะเสร็จแล้วให้ล้างน้ำแล้วใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำคลุมไว้
  • มันฝรั่ง  เลือกผิวสด นำมาแกะเป็นใบไม้ ดอกไม้ สัตว์ต่าง ๆ เมื่อปอกเปลือกแล้วให้แช่ไว้ในน้ำมะนาวจะได้ไม่ดำ
  • แตงโม  เลือกผลให้เหมาะกับงานที่ออกแบบไว้ นำมาแกะเป็นภาชนะแบบต่าง ๆ เมื่อแกะเสร็จให้ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำคลุมไว้
  • เงาะ นำมาคว้านเอาเมล็ดออก ใช้วุ้นสีต่าง หรือสับปะรด หรือเนื้อแตงโม ยัดใส่แทน เมื่อแกะเสร็จให้นำไปแช่เย็น
  • ละมุด เลือกผลขนาดพอดี ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ไม่สุกงอม แกะเสร็จให้นำไปแช่ในตู้เย็น
  • สับปะรด เลือกผลใหญ่ ไม่ช้ำ แกะเป็นพวงรางสาดได้สวยงาม แกะเสร็จให้ล้างด้วยน้ำเย็นและนำไปแช่เย็น
  • ส้ม เลือกผลใหญ่ สีส้มสด แกะเป็นหน้าสัตว์เช่น แมวเหมียว
  • น้อยหน่า เลือกผลใหญ่ไม่งอม นำมาคว้านเอาเมล็ดออก แกะเสร็จนำไปแช่เย็น
ลำดับขั้นการแกะสลักผักและผลไม้
  1. ออกแบบ โดยการร่างแบบในกระดาษ
  2. วิเคราะห์เพื่อเลือกผักหรือผลไม้ในการนำมาแกะสลักให้มีความเหมาะสมตามที่ออกแบบไว้
  3. เกลาให้ได้รูปทรงตามที่ออกแบบไว้
  4. แกะสลักวิธีเซาะร่องให้ได้รูปทรงที่ออกแบบไว้
การปอก หมายถึง 
การทำวัสดุที่มีเปลือก ต้องการให้เปลือกออก ด้วยมือหรือใช้มีด แล้วแต่ชนิดวัสดุ เช่น ใช้มือปอกกล้วยหรือส้ม ถ้าเป็นของที่ใช้มีดก็จับมีดมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งจับของที่จะปอก แล้วกดมีดลงที่เปลือกให้คมมีดเดินไปตามเปลือกเรื่อยไปจนสุดเปลือกของสิ่งนั้นๆ เช่นปอกมะเขือเทศ ปอกแตงโม เป็นต้น
                
การฝึกทักษะ การปอก  (การปอกมะเขือเทศเป็นดอกกุหลาบ)  
       ขั้นตอนการทำ
1. ใช้มีดแกะสลักปอกผิวมะเขือเทศเริ่มต้นจากขั้วของมะเขือเทศ
2. ปอกมะเขือเทศ ให้ตัดเนื้อเล็กน้อย ปลายโค้ง
3. ปอกรอบผล เส้นระยะให้เท่ากันจนถึงปลายผล
4. ม้วนกลีบกุหลาบโดยเริ่มที่ปลายผล
5. ม้วนจนหมด เส้นที่ปอก ใช้ส่วนตรงขั้วผลรองรับกลีบดอกกุหลาบ จัดกลีบให้เข้าที่สวยงาม
การจัก
            การจัก หมายถึง การทำวัสดุให้เป็นแฉกหรือฟันเลื่อย โดยใช้มีดแกะสลักกดลงบนส่วนกลางของวัสดุนั้น ให้แยกออกจากกัน หรือใช้เครื่องมือแหลมแทงตรงที่ต้องการ เช่นการจักหอมหัวใหญ่ การจักละมุด
การฝึกทักษะ การจัก (การจักหอมหัวใหญ่) 
     ขั้นตอนการทำ
1. ปอกหอมหัวใหญ่ ล้างให้สะอาด
2. ใช้ปลายมีดแกะสลักจักซิกแซ็ก ตรงกลางหัว ตามขวางจนรอบหัว ให้มีระยะที่เท่าๆกัน
3. ค่อยๆ ดึงหอมหัวใหญ่ให้แยกออกจากกันเป็น 2 ส่วน
4. ปาดเนื้อด้านล่าง  ออกเล็กน้อย ให้ตั้งได้และนำไปล้างน้ำเย็นจัด
การกรีด
การกรีด หมายถึง 
การทำวัสดุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้เป็นรอยแยก หรือขาดออกจากกัน โดยใช้ของแหลมคมกดลงบนวัสดุนั้น แล้วลากไปตามความต้องการ
การฝึกทักษะ การกรีด (การกรีดพริกชี้ฟ้าเป็นดอกหน้าวัว)
     ขั้นตอนการทำ
1. ล้างพริกให้สะอาด  ใช้มีดควั่นโดยรอบขั้วพริก อย่าให้ขาด
2. กรีดตามยาว จากโคนจรดปลาย
3. ใช้ปลายมีดแคะเมล็ดพริกออก ระวังอย่าให้กลีบขาด
4. ดึงเม็ดพริกที่ติดกับก้านออก
5. เจียนพริก ช่วงโคนให้มนและเว้นตรงกลาง แช่น้ำให้กลีบแข็ง
6. ใช้ปลายมีด เจาะพริก ให้ต่ำจากรอยเว้าเล็กน้อย
7. นำเมล็ดพริกที่ติดกับก้านมาใส่เป็นเกสร
8. เกสรเมื่อเสียบเสร็จแล้วดังรูป
การตัด  การฝาน  การเจียน  การเซาะ
           การตัด หมายถึง        
การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งต้องการให้เป็นท่อนสั้นยาวตามต้องการ โดยใช้มือหนึ่งจับมีด และอีกมือหนึ่งจับวัสดุวางบนเขียง แล้วกดมีดลงบนวัสดุให้ขาดออกจากกัน
            การฝาน หมายถึง
 การทำวัสดุสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เป็นแผ่นหรือชิ้นบาง โดยใช้มือจับของไว้ในฝ่ามือหรือวางบนเขียง แล้วใช้อีกมือหนึ่งจับมีดกดลงบนของนั้นให้ตรง มีความบางมากหรือน้อยตามต้องการ
            การเจียน หมายถึง
 การทำให้รอบนอกของวัสดุสิ่งใดสิ่งหนึ่งเรียบไม่ขรุขระ หรือเป็นรูปทรงต่างๆ
            การเซาะ หมายถึง 
การทำให้เป็นรอยลึกหรือรอยกว้าง เช่น เซาะเป็นรอยตามประสงค์ โดยใช้มือข้างหนึ่งจับวัสดุนั้น แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งจับมีด ให้ทางคมกดกับวัสดุนั้น ไถไปด้วยความเร็วเพื่อให้วัสดุขาดและเรียบ
           
           การตัด                                 การฝาน                                           การเจียน                                          การเซาะ
การฝึกทักษะ การตัด การฝาน การเจียน การเซาะ (แตงร้านเป็นรูปใบไม้พลิ้ว)
     ขั้นตอนการทำ
1. ตัดแตงร้านให้เป็นเส้นเฉียง (การตัด)
2. ตัดแตงร้านให้ขาดออกจากกัน
3. ฝานเมล็ดออก (การฝาน)
4. ตัดตกแต่งแตงร้านให้เป็นรูปใบไม้ เจียนตกแต่งใบไม้ให้บาง (การเจียน)
5. เซาะร่องเส้นกลางใบ ให้เป็นแนวคู่
6. เซาะเส้นกลางใบ ให้ปลายแหลม (การเซาะ)
7. หยักริมใบทั้งสองข้าง
8. ใบไม้ที่พลิ้วที่สำเร็จ ใบจะมีลักษณะโค้งเล็กน้อย ปลายใบดูอ่อนไหว ตามธรรมชาติ
การเกลา การแกะสลัก
การเกลา หมายถึง 
การตกแต่งวัสดุที่ยังไม่เกลี้ยงให้เรียบร้อยยิ่งขึ้น โดยใช้มีดนอนหันคมออก ฝานรอยที่ขึ้นเป็นสันและขรุขระให้เกลี้ยง
การแกะสลัก หมายถึง
การทำวัสดุสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกจากกัน หรือใช้เครื่องมือที่แหลมคม กดทางคมลง บนวัตถุนั้นตามความประสงค์เป็นลวดลายสวยงามต่างๆ หรือการใช้เล็บมือค่อยๆแกะเพื่อให้หลุดออก
    
    การเกลา  
        การแกะสลัก  
การฝึกทักษะ การเกลา การแกะสลัก (การแกะสลักฟักทองเป็นดอกรักเร่)
ขั้นตอนการทำ
1.  ตัดฟักทองให้เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ตัดเหลี่ยมทั้ง 4 ด้านออก
2. เกลาชิ้นฟักทอง ให้มีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม
3. แกะสลักเกสรโดยใช้มีดปัก 90 องศา และปาดเนื้อออก
 4. แกะสลักเกสรหันปลายกลีบเข้าหาจุดศูนย์กลาง ปาดเนื้อกลางกลีบให้เป็นร่อง
5. แบ่งระยะกลีบ ปาดเนื้อกลางกลีบให้เป็นร่อง และแกะสลักกลีบให้ปลายแหลม
 6.  ดอกรักเร่กลีบด้านข้าง จากโค้งเล็กน้อย มีปลายแหลม ปาดเนื้อใต้กลีบออกทุกครั้ง กลีบจึงจะเด่น
7.  แกะสลักกลีบชั้นต่อไป ให้สับหว่าง เช่นนี้จนจบ
8.  ดอกรักเร่ที่สำเร็จ จะเป็นดั่งรูป
การคว้าน
การคว้าน หมายถึง 
การทำวัสดุซึ่งมีส่วนเป็นแกนหรือเมล็ดให้ออกจากกัน โดยใช้เครื่องมือที่มีปลายแหลมและคมแทงลงตรงจุดที่ต้องการคว้าน แล้วขยับไปรอบๆ จนแกนหลุดค่อยๆ แคะหรือดุนออก เช่นการคว้านเงาะ
                
  การฝึกทักษะ การคว้าน (การแกะสลักแตงร้านเป็นดอกทิวลิป)
ขั้นตอนการทำ
1.  ตัดแตงร้านส่วนปลาย แบ่งออกเป็น 3 กลีบ ใช้มีดคว้านไส้ออก  (การคว้าน)
2. ใช้มีดเจียนกลีบให้ปลายมน
3. จักริมกลีบให้เป็นฟันปลา
4. เจาะกลีบเล็กในกลีบใหญ่ ให้โค้งตามกลีบรอบนอก
5. ใช้ปลายมีดกดกลีบเล็กเข้าด้านใน นำไปแช่น้ำให้กลีบบาน
6.  ตัดใบหอมทำเกสร ยาวพอประมาณกรีดให้เป็นเส้นฝอยแช่น้ำให้บาน นำมาวางตรงกลางดอกเป็นเกสร
การเลือกซื้อผักและผลไม้ที่ใช้ในงานแกะสลัก
1.  เลือกตามฤดูกาลที่มี จะได้ผักและผลไม้ที่มีปริมาณให้เลือกมาก มีความสดและราคาถูก
2.  เลือกให้ตรงกับความต้องการหรือวัตถุประสงค์ในงานแกะสลัก เช่น เพื่อการปอก คว้าน เพื่อการรับประทาน เพื่อการตกแต่งหรือเพื่อเป็นภาชนะ
3.  เลือกผักและผลไม้ที่สด และสวยตามลักษณะของผักและผลไม้ที่แกะสลัก
4.  เลือกให้มีขนาดและรูปทรงเหมาะสมกับผลงานที่จะแกะสลัก
การเลือกซื้อตามชนิด และการดูแลรักษาผัก-ผลไม้
แตงกวา  เลือกผิวสดสีเขียวปนขาวไม่เหลือง  สามารถนำมาแกะสลักได้หลายรูปแบบ  เช่น  กระเช้าใส่ดอกไม้  ดอกไม้  ใบไม้  เมื่อแกะเสร็จให้ล้างด้วยน้ำเย็นใส่กล่องแช่เย็นไว้  หรือใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำคลุมไว้จะได้สดและกรอบ
มะเขือเทศ  เลือกผลที่มีผิวสด  ขั้วสีเขียว  นำมาแกะสลักเป็นดอกไม้  หรือปอกผิวนำมาม้วนเป็นดอกกุหลาบ  เมื่อแกะเสร็จควรล้างด้วยน้ำเย็น  ใส่กล่องแช่เย็น
มะเขือ  เลือกผลที่มีผิวเรียบ  ไม่มีรอยหนอนเจาะ  ขั้วสีเขียวสด  นำมาแกะเป็นใบไม้  ดอกไม้เมื่อแกะเสร็จควรแช่ในน้ำมะนาวหรือน้ำมะขาม  จะทำให้ไม่ดำ
แครอท  เลือกสีส้มสด  หัวตรง  นำมาแกะเป็นดอกไม้  ใบไม้  สัตว์ต่างๆ  เมื่อแกะเสร็จให้แช่ไว้ในน้ำเย็น
ขิง  เลือกเหง้าที่มีลักษณะตามรูปร่างที่ต้องการ  แกะเป็นช่อดอกไม้  ใบไม้  สัตว์  เมื่อนำขิงอ่อนไปแช่ในน้ำมะนาวจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูสวย
มันเทศ  เลือกหัวที่มีผิวสด  ไม่มีแมลงเจาะ  แกะเป็นรูปสัตว์ต่างๆ  แกะเสร็จแล้วนำไปแช่ในน้ำมะนาวหรือน้ำมะขาม  ผิวจะได้ไม่ดำ
เผือก  เลือกหัวใหญ่กาบสีเขียวสด  นำมาแกะเป็นภาชนะใส่ของ หรืออาหาร  ดอกไม้  ใบไม้   เมื่อแกะเสร็จให้นำไปแช่ในน้ำมะนาวหรือน้ำมะขามจะทำให้มีสีขาวขึ้น
ฟักทอง  เลือกผลแก่เนื้อสีเหลืองนวล  นำมาแกะเป็นภาชนะ  ดอกไม้  ใบไม้  หรือสัตว์ต่างๆ  แกะเสร็จแล้วให้ล้างน้ำแล้วใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำคลุมไว้
มันฝรั่ง  เลือกผิวสด  นำมาแกะเป็นใบไม้  ดอกไม้  สัตว์ต่างๆ  เมื่อปอกเปลือกแล้วให้แช่ไว้ในน้ำมะนาวจะได้ไม่ดำ
แตงโม  เลือกผลให้เหมาะกับงานที่ออกแบบไว้  นำมาแกะเป็นภาชนะแบบต่างๆ  เมื่อแกะเสร็จให้ใช้ผ้าขาวบางชุบน้ำคลุมไว้
                    เงาะ  นำมาคว้านเอาเมล็ดออก  ใช้วุ้นสีสันต่างๆ  หรือสับปะรด  หรือเนื้อแตงโม  ยัดใส่แทน  เมื่อแกะเสร็จให้นำไปแช่เย็น
ละมุด  เลือกผลขนาดพอดี  ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป  ไม่สุกงอม  แกะเสร็จให้นำไปแช่ในตู้เย็น
สับปะรด  เลือกผลใหญ่  ไม่ช้ำ  แกะเป็นพวงรางสาดได้สวยงาม  แกะเสร็จให้ล้างด้วยน้ำเย็นและนำไปแช่เย็น
ส้ม  เลือกผลใหญ่  แกะเป็นหน้าสัตว์  เช่น  แมวเหมียว
น้อยหน่า  เลือกผลใหญ่ไม่งอม  นำมาคว้านเอาเมล็ดออก แกะเสร็จนำไปแช่เย็น

หลักการดูแลรักษาผักและผลไม้ก่อนและหลังการแกะสลัก
              ผักและผลไม้ที่ใช้ในงานแกะสลักมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป จึงควรได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนแกะสลัก ในระหว่างการแกะสลักและหลังการแกะสลัก เพื่อให้มีสภาพที่น่ารับประทาน ตลอดจนสงวนคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้ ซึ่งมีวิธีการดูแลรักษาดังนี้
1.  ผักและผลไม้ที่ซื้อมาต้องล้างให้สะอาดก่อนนำไปแกะสลัก ไม่ควรแช่ผักผลไม้ไว้ในน้ำนานเกินไป เพราะจะทำให้ผักและผลไม้เน่าและช้ำง่าย  เมื่อแกะสลักเรียบร้อยแล้ว ควรแยกผักและผลไม้ที่เก็บไว้เป็นประเภท
2.  การป้องกันผักและผลไม้ที่มีลักษณะรอยดำหรือเป็นสีน้ำตาลตามกลีบที่ถูกกรีด อาจจุ่มน้ำเปล่าที่เย็นจัด น้ำเกลือเจือจาง หรือน้ำมะนาว เพื่อช่วยชะลอการเกิดรอยดำหรือสีน้ำตาล
3.  ผักและผลไม้ที่แกะสลักเรียบร้อยแล้วควรล้างน้ำเย็นจัด แล้วจึงนำไปจัดตกแต่งหรือนำไปถนอมอาหารเพื่อใช้ในโอกาสต่อไป ถ้ายังไม่ใช้งานควรเก็บใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุง หรือเก็บใส่กล่องปิดฝาให้สนิท นำไปเก็บในตู้เย็น
4.  เมื่อจัดงานแกะสลักใส่ภาชนะเรียบร้อยแล้ว ให้คลุมด้วยพลาสติกห่ออาหารแล้วนำไปเก็บในตู้เย็น
ประโยชน์ของงานแกะสลักผักและผลไม้        
1. เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น
1.1  จัดตกแต่งผักและผลไม้ให้สวยงามน่ารับประทาน
1.2  จัดแต่งให้สะดวกแก่การรับประทาน
2.  เพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น
2.1  งานประเพณีต่างๆ นิยมจัดตกแต่งอาหารคาวหวานให้สวยงาม เพื่อเลี้ยงพระหรือรับรองแขก เช่น งานบวชนาค งานแต่งงาน งานวันเกิด งานฉลองแสดงความยินดี
2.2  งานวันสำคัญ เช่น งานปีใหม่ หรือแกะสลักผลไม้เชื่อม/แช่อิ่ม ใส่ภาชนะที่เหมาะสมใช้เป็นของขวัญ ของฝาก ไปกราบญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
2.3  งานพระราชพิธีต่างๆ
3.  เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เป็นช่างแกะสลักผักและผลไม้ตามร้านอาหาร ภัตตาคาร  โรงแรม หรือบนสายการบินระหว่างประเทศ
4.  เพื่อเป็นแนวทางในการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไทย
5.  เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย
6.  เพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการคิดรูปทรง และลวดลายที่แปลกใหม่โดยจัดประกวดการแกะสลักผักและผลไม้ในหัวข้อต่างๆ
7.  ทำให้ผู้แกะสลักเกิดความภาคภูมิใจในผลงานและได้รับการยกย่องสร้างงานและรายได้

เรียบเรียงบทความโดย - แอ๊น แฮนด์ เมด บล็อกเกอร์
ขอบคุณแหล่งข้อมูล 

ไม่มีความคิดเห็น: